บุหรี่ และสุรา กับโรคมะเร็ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ http://thastro.org/pages/14037/ บุหรี่ และสุรา เป็นสิ่งบริโภคที่นิยมในหมู่คนบางกลุ่ม ซึ่งทั้งสองสิ่ง ได้มีการศึกษาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และให้ผลแน่นอนแล้วในเรื่องผลกระทบต่อการเกิดโรคมะเร็ง และต่อสุขภาพโดยรวม บุหรี่บุหรี่ ในที่นี้รวมผลิตภัณฑ์จากใบยาสูบทุกรูปแบบ เช่น บุหรี่ ซิการ์ ยาฉุน และเมี่ยง ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า บุหรี่ โดยเฉพาะควันบุหรี่ มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด ที่เป็นอันตรายสำคัญ คือ สารในกลุ่มไนโตรซามีน(nitrosamines) น้ำมันดิน (tar) เบนซีน (benzene) ฟอร์มาดีไฮด์ (formaldehyde) และยาฆ่าแมลงซึ่งปนเปื้อนจากการเพาะปลูก นอกจากนั้น ยังมีสารพิษที่เป็นอันตรายสำคัญต่อเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะปอด และทางเดินหายใจ ที่สำคัญ ได้แก่ นิโคติน (nicotine) อะซีโตน(acetone) แอมโมเนีย บิวเทน ([butane) ไฮโดรเจนไซยานายด์ (hydrogen cyanide) เมธานอล(methanol) อาร์ซีนิค (Arsenic) และ คาร์บอนโมนอกไซด์(carbon monoxide) -สารก่อมะเร็งในบุหรี่ จากการศึกษาทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งของอวัยวะในส่วนต่างๆของศีรษะ และลำคอ (เช่น ช่องปาก โพรงจมูก และคอหอย) มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งปากมดลูก และเมื่อสูบบุหรี่ร่วมกับดื่มสุรา จะยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งต่างๆให้สูงขึ้น โดยเฉพาะโรคมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ -นิโคตีน เป็นสารกระตุ้นสมอง และประสาท ก่อให้เกิดการเสพติด การเบื่ออาหาร เป็นสารทำให้มีโคเลสเตรอลในเลือดสูง เพิ่มการหดตัวของเส้นเลือดส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง และทำให้เลือดแข็งตัวได้ง่าย นอกจากนั้นยังส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดการพิการได้ง่าย -อะซีโตน เป็นสารที่เมื่อร่างกายได้รับในปริมาณสูงต่อเนื่อง จะก่อการระคายเคืองต่อ เยื่อจมูก หลอดลม กระเพาะอาหาร ต่อเยื่อตา และกระจกตา คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลให้แท้งบุตร แต่การศึกษาในสัตว์ทดลองยังไม่พบว่า อะซีโตนเป็นสารก่อมะเร็ง -แอมโมเนีย เป็นสารมีคุณสมบัติทำลายเนื้อเยื่อปอด และสมอง และก่อการระคายเคืองทั้งต่อเนื้อเยื่อปอด หลอดลม ลำคอ และดวงตา ก่อการอักเสบของลำคอ ทำให้เกิดอาการไอ กล่องเสียงอักเสบ เจ็บหน้าอก และหอบหืด แต่การศึกษาในสัตว์ทดลอง ยังไม่พบเป็นสารก่อมะเร็ง -บิวเทน เป็นสารก่อการระคายเคือง และการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้ง ระบบทางเดินหายใจ ดวงตา แต่การศึกษาในสัตว์ทดลอง ยังไม่พบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง -ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นสารพิษรุนแรงต่อเนื้อเยื่อปอด หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และต่อสมอง แต่ยังไม่ใช่สารก่อมะเร็ง -เมธานอล เป็นสารทำลายระบบสมอง และประสาท โดยเฉพาะประสาทตา ก่อการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำลายเซลล์ตับ และขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาชัดเจนในเรื่องเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่ -อาร์ซีนิค เป็นสารอีกชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็งชนิดอันตรายสูง ก่อให้เกิดโรคมะเร็งพบบ่อยได้ในหลายอวัยวะ เช่น ไต และกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนั้นยังมีผลก่อการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำลายสมองและประสาท ทำลายเม็ดเลือดแดง และก่อให้เกิดการอักเสบของตับ -คาร์บอนโมนอกไซด์ เป็นแก๊สซึ่งส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน จึงส่งผลต่อการทำงานของเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น การทำงานของหัวใจ ต่อสมอง ความจำ มึนงง วิงเวียน ต่อการมองเห็น การควบคุมการปัสสาวะ ก่ออาการปวดศีรษะเรื้อรัง ก่อการเหนื่อยล้า และการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อต่างๆ สรุป ในภาพรวม บุหรี่/ควันบุหรี่ มีสารก่อมะเร็งที่อันตรายสูง ก่อมะเร็งชนิดพบบ่อยได้หลายชนิด นอกจากนั้นยังมีสารพิษหลายชนิดที่ส่งผลต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบเรื้อรัง/โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนั้น ผู้ได้รับควันบุหรี่ทั้งๆที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ซึ่งเรียกว่า secondhand smoke หรือ passive smoking หรือ environmental tobacco smoke ยังได้รับผลต่อร่างกายเช่นเดียวกับคนสูบบุหรี่ โดยมีแนวโน้มความรุนแรวสูงกว่า เนื่องจากสูดดมเต็มที่โดยไม่มีการพ่นออกเหมือนคนสูบบุหรี่ และในปัจจุบัน พบว่า สารพิษในควันบุหรี่ ยังตกค้างอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนานในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในบ้าน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ และพรมต่างๆ และอาจก่ออันตรายได้เช่นเดียวกับใน secondhand smoke ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า third-hand smoke การศึกษาทางการแพทย์ในเรื่องผลกระทบของบุหรี่ต่อสุขภาพให้ผลตรงกัน และอย่างชัดเจน ดังนั้นแพทย์ทุกคน จึงสนับสนุน และแนะนำให้ ทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยทุกโรค รวมทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็ง ไม่สูบบุหรี่ และเลิกสูบถ้าเป็นคนสูบบุหรี่ เพราะการเลิกบุหรี่ ร่างกายจะค่อยฟื้นฟูตัวเองได้ ถ้าเนื้อเยื่อต่างๆยังไม่เสียหายอย่างถาวร
สุราสุรา ในที่นี้รวมถึงเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่รู้จักกันดี คือ เหล้า เบียร์ บรั่นดี และไวน์ สุราประกอบด้วยสารประกอบหลายร้อยชนิด แต่ที่มีปริมาณมากที่สุด และเป็นตัวออกฤทธิ์สำคัญ คือ อีทานอล หรือ เอทิล แอลกอฮอล์(ethanol, ethyl alcohol) อีทานอล เป็นสารดูดซึมเข้าร่างกายได้ทันทีภายหลังการบริโภคโดยไม่ต้องผ่านการย่อย สลาย และออกฤทธิ์สำคัญ คือ กดการทำงานของเซลล์สมอง เมื่อบริโภคในปริมาณน้อยๆจะส่งผลให้เกิดความสุข ช่างพูด นอนหลับ ลดการเจ็บปวด แต่เมื่อบริโภคต่อเนื่อง หรือในปริมาณสูง จะส่งผลต่อ บุคคลิกภาพ และความจำ โดยตัวอีทานอลเอง ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง แต่เมื่อเข้าสู่การเผาผลาญของร่างกาย จะกลายเป็นสารก่อมะเร็งตัวอันตรายสูง โดยเฉพาะต่อการเกิดมะเร็งตับ และมะเร็งในอวัยวะส่วนศีรษะ และลำคอ เช่น ช่องปาก และคอหอย สุรา ยังมีสารต่างๆอีกหลายร้อยชนิด ในส่วนชนิดดี เช่น สารต้านอนุมูลอิสสระ อย่างไรก็ตาม การบริโภคสุราในปริมาณสูง และเรื้อรัง จะทำลายเซลล์สมอง ก่อให้เกิด อาการทางอารมณ์และจิตใจ ความจำเสื่อม การตัดสินใจผิดพลาด ขาดการยั้งคิด และมีอารมณ์รุนแรง จึงส่งผลถึงคุณภาพชีวิตในครอบครัว นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบต่อการนอน ส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท จึงส่งผลต่อสุขภาพอย่างมากเนื่องจากเป็นสาเหตุให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายจึงมีภูมิคุ้มกัน ภูมิต้านทานโรคต่ำ การบริโภคสุราในปริมาณสูง ก่อการอักเสบของเซลล์ตับอย่างเรื้อรังและกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด เกิดตับวาย และเสียชีวิต นอกจากนั้นตับแข็งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นโรคมะเร็งมีความรุนแรงสูงสุด สุรา ยังอาจส่งผลต่อยาต่างๆที่บริโภค โดยพบว่า สุราเพิ่มการออกฤทธิ์ของยานอนหลับ และยาคลายเครียดบางชนิด ส่วนผลกระทบต่อ ฮอร์โมน และยาเคมีบำบัดยังไม่ชัดเจน นอกจากนั้น การติดสุรา ส่งผลให้เกิดการขาดอาหาร จากการบริโภคอาหารไม่มีประโยชน์ และมีปัญหาในการดูดซึมอาหาร ร่างกายจึงมักอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ สรุป การบริโภคสุราปริมาณสูงต่อเนื่องจนติดสุรา ก่อโทษต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ก่อปัญหาครอบครัว และปัญหาสังคม และยังเป็นสารก่อมะเร็งอันตรายสูง ซึ่งการเป็นสารก่อมะเร็ง ยิ่งเพิ่มความรุนแรงสูงขึ้นมาก เมื่อเป็นการบริโภคร่วมกับบุหรี่ และถึงแม้การศึกษายังไม่ชัดเจนถึงผลกระทบต่อยาฮอร์โมน และยาเคมีบำบัด ก็ควรงดสุราในช่วงให้การรักษา อย่างไรก็ตาม ในชีวิตประจำวัน การศึกษาต่างๆทางการแพทย์พบว่า การบริโภคสุราเพียงเล็กน้อยไม่ก่อโทษ ดังนั้น สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา จึงแนะนำว่า เมื่อจะบริโภคสุรา ในผู้ชาย ไม่ควรเกินวันละ ๒ ดริ้ง (drink ) หรือ ประมาณ ๓๐ กรัมของสาร อีทานอล ส่วนผู้หญิงไม่ควรเกิน ๑ ดริ้งต่อวัน (๑๕ กรัมของอีทานอล) นอกจากนั้น ถึงแม้การศึกษายังไม่ชัดเจนถึงผลกระทบของสุราต่อยาฮอร์โมน และยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยังควรงดสุราในช่วงให้การรักษาดังกล่าว เพราะยังไม่มีข้อมูล ถึงปฏิกิริยาระหว่างสุรา กับ ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน และ/หรือ ยารักษาตรงเป้า |
|
|
|