วันที่: 2014-12-13 17:50:19.0
มะเร็งปากมดลูก ภัยเงียบใกล้ตัวสาวๆ
สาเหตุสำคัญของการเกิด โรคมะเร็งปากมดลูก (Cancer of Cervix)
จากการศึกษาพบว่า สาเหตุหลักของการเกิด โรคมะเร็งปากมดลูก มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อ ฮิวแมนแพปพิลโลมา (Human Papilloma Virus – HPV ) ที่บริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก (รวมทั้งอวัยวะเพศภายนอก) พบว่า 99.7% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก จะตรวจพบเชื้อชนิดนี้ด้วย โดย เชื้อ HPV นี้ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High risk HPV) มี 13 ชนิด คือ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 68
2. กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low risk HPV) ได้แก่ 2, 3, 6, 11, 42, 43, 44
ปัจจุบันพบว่า การติดเชื้อ HPV ของประชากรทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 630 ล้านคน โดยการติดเชื้อ HPV จะพบบ่อยที่สุดในผู้หญิงวัยเยาว์ที่มีอายุระหว่าง 18 – 28 ปี หรือผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ทำให้เรามักจะพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่จะมีอายุในช่วง 35 – 50 ปี สืบเนื่องจากระยะเวลาของการติดเชื้อจน กระทั่งป่วยเป็นโรคนี้ซึ่งใช้เวลานานนับ 10 ปี
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูก
ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายหญิง ได้แก่
• การมีคู่นอนหลายคน ความเสี่ยงสูงขึ้นตามจำนวนคู่นอนที่เพิ่มขึ้น
• การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
• การสูบบุหรี่
• มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ เริม ซิฟิลิส และหนองใน เป็นต้น
• การให้กำเนิดลูกหลายคน
• การกินยาคุมกำเนิด
• การมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ
• พันธุกรรม
• การขาดสารอาหารบางชนิด
ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย
เนื่องจากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงกล่าวได้ว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อเอชพีวี (ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะไม่มีอาการหรือตรวจไม่พบเชื้อ) แม้เพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีและเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชาย ที่อาจทำให้ผู้หญิงเป็น มะเร็งปากมดลูก ได้แก่
• ฝ่ายชายเป็นมะเร็งองคชาติ
• ฝ่ายชายเคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก
• ฝ่ายชายเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
• ฝ่ายชายผ่านประสบการณ์ทางเพศตั้งแต่อายุน้อยหรือมีคู่นอนหลายคน
โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่เกิดบ่อยที่สุดของคุณสุภาพสตรี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกจะได้ผลดีเมื่อสามารถค้นหาโรคได้ในระยะเริ่มแรกโดยการตรวจภายใน มักจะรักษาโดยการผ่าตัด หรือการให้รังสีรักษา แต่หากพบโรคในระยะท้ายของโรคก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้นการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกน่าจะเป็นวิธีที่ดี
โรคมะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อ เอชพีวี (Human Papillomavirus) และมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 10 ปี ในปัจจุบันนี้ เราได้คิดค้นวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ซึ่งหมายความว่าเราป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยเช่นกัน
วัคซีนป้องกัน มะเร็งปากมดลูก นี้ เรียกว่า เอชพีวี วัคซีน (HPV vaccine) เป็นวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% ในส่วนที่เป็นสาเหตุจากการติดเชื้อสายพันธุ์สำคัญ องค์การอนามัยโลกให้การรับรองวัคซีนในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์หลักเหลานี้ได้ 100% ถ้าหากได้รับวัคซีนดังกล่าวก่อนการติดเชื้อ และยังป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหงอนไก่ที่อวัยวะเพศอีกด้วย
มีคำแนะนำจากองค์การอาหารและยาของอเมริกาแนะนำว่าให้เริ่มฉีดเมื่ออายุประมาณ 11-12 ปี แต่อาจจะฉีดเมื่ออายุ 9 ปีก็ได้ เนื่องจากเด็กในช่วงอายุดังกล่าวยังไม่มีการติดเชื้อ HPV และช่วงดังกล่าวเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่
นอกจากนั้นยังแนะนำว่าว่าผู้ที่อายุตั้งแต่ 13-26 ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบควรจะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ฉีดสามเข็มคือ เข็มที่สองและสามห่างจากเข็มแรกสองและสี่เดือนตามลำดับทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิได้เต็มที่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV
ครั้งที่1ให้ฉีดตามที่กำหนด
ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน
ครั้งที่ 3 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน
สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 26 ปี หรือมีเพศสัมพันธุ์แล้ว การได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะมีภูมิต่อเชื้อHPV type 6, 11, 16 และ 18 หากท่านยังไม่ได้รับเชื้อดังกล่าว ท่านก็ยังได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีน แต่สำหรับท่านที่ชอบเปลี่ยนคู่นอน ท่านมีโอกาสที่จะติดเชื้อไปแล้วอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนนี้
แม้ได้รับวัคซีนแล้วก็ควรตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก
1. มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 18 ปี
2 การติดเชื้อ HPV หรือการเป็นหูดที่อวัยวะเพศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
3. สตรีที่เคยเป็นโรคติดเชื้อจากการร่วมเพศ เช่น กามโรค
4. สตรีที่เคยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่บริเวณอวัยวะเพศ เช่น เริม หงอนไก่
5. ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือบกพร่อง เช่น ผู้ที่รับยาหลังการเปลี่ยนอวัยวะหรือผู้ติดเชื้อเอดส์ จะทำให้เกิดโอกาสติดเชื้อ HPV ได้ง่ายจึงมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น
6. การติดเชื้อ Chlamydia พบว่าผู้ที่ติดเชื้อ Chlamydia ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น
7. สตรีที่ติดบุหรี่ หรือผู้ใกล้ชิดเป็นผู้ติดบุหรี่ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นสองเท่า
8. ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย สามีหรือคู่นอนสำส่อนทางเพศ
9. การขาดสารอาหารบางชนิด ผู้หญิงที่รับประทานผักและผลไม้น้อยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าคนที่รับประทานผักและผลไม้
10. ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดมาเป็นระยะเวลานานจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก
11. การมีบุตรหลายคนเชื่อว่าจะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนทำให้ติดเชื้อ HPV ง่าย และขาดการป้องกันการติดเชื้อ
12. ผู้ที่มีฐานะการเงินต่ำ เนื่องจากเข้าถึงบริการไม่ทั่วถึง ขาดการเข้ารับการตรวจภายใน
13. ผู้ที่ได้ยา Diethylstilbestrol (DES) เพื่อป้องกันแท้ง
14. พันธุกรรม
เมื่อพบภาวะผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80 – 90 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก
1. มีตกขาวออกมาผิดปกติ อาจมีเลือดปนและมักมีกลิ่นเหม็น
2. มีประจำเดือนไม่ปกติ กะปริบกะปรอย หรือบางครั้งออกมาก
3. มีเลือดออกผิดปกติ เช่นเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธุ์ มีเลือดออกหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว เลือดออกเป็นระยะ ประจำเดือนมานานผิดปกติ เลือดออกหลังจากตรวจภายใน
4. อ่อนเพลีย ตัวซีด เบื่ออาการ น้ำหนักลด
5. มีการบวม ปัสสาวะไม่ออก หรือไหลไม่หยุด
6. ปวดท้องน้อย หรือมีอาการผิดปกติของอวัยวะอื่นเมื่อโรคลุกลาม
7. มีอาการเจ็บขณะร่วมเพศ
อาการมะเร็งปากมดลูก
อาการตกเลือดทางช่องคลอด ลักษณะเลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดออกแบบกะปริบกะปรอยระหว่างมีรอบเดือน มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ ถ้ามีเลือดออกมามากและมะเร็งลุกลามออกไปด้านข้าง หรือลุกลามไปที่อุ้งเชิงกรานจะมีอาการปวดหลังได้ เพราะไปกดทับเส้นประสาท
อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นหรือลุกลามสู่อวัยวะอื่นๆ ได้แก่ อาการขาบวม ปวดหลัง ปวดก้นกบ ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น
มะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 0 – เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังไม่กระจายตัว มีวิธีรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 0 คือการผ่าตัดเล็ก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที และตรวจร่างกายติดตามอาการต่อไป การรักษาในระยะนี้ได้ผลเกือบ 100%
ระยะที่ 1 – เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูกแล้ว การรักษามะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 1 คือการผ่าตัดใหญ่ เป็นการผ่าตัดมดลูก เลาะต่อมน้ำเหลืองในเชิงกราน ผลการรักษาได้ผลดีถึง 80%
ระยะที่ 2 – เซลล์มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูกโดยยังไม่ได้ลุกลามไปไกลมาก แต่ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว การรักษา มะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 2 นี้ ต้องทำการรักษาด้วยการฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด (คีโม)
ระยะที่ 3 – ระยะที่เซลล์มะเร็งกระจายชิดเชิงกราน การรักษาในระยะที่ 3 คือใช้รังสีรักษา และการให้เคมีบำบัดเช่นเดียวกันระยะที่ 2 แต่การรักษาระยะนี้จะได้ผลเพียงประมาณ 20 – 30% เท่านั้น
ระยะที่ 4 – เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งกระจายทั่วร่างกายแล้ว การรักษามะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 4 ยังคงเป็นการให้คีโม และรักษาตามอาการเท่านั้น โดยหวังผลได้เพียงประมาณ 5-10% และมีโอกาสรอดน้อยมาก แต่ก็ไม่แน่มีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกบางรายสามารถอยู่ต่อได้นานถึง 1 – 2 ปี แล้วจึงเสียชีวิต
การตรวจหามะเร็งปากมดลูกทำได้อย่างไร
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถสืบค้นและป้องกันได้ โดยการตรวจภายในเพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูก เรียกว่า การตรวจแป็ปสเมียร์ เป็นการตรวจภายในแล้วใช้ไม้พายเล็ก ๆ ป้ายบริเวณปากมดลูก เพื่อนำเซลล์ไปตรวจหาความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือที่เป็นมะเร็งระยะก่อนลุกลาม ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 5 นาที โดยไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ ขณะตรวจเลย
การวินิจฉัย มะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ การใช้กล้องส่องตรวจปากมดลูก ที่เรียกว่า กล้องคอลโปสโคป เป็นกล้องขยายดูปากมดลูกในรายที่ผลการตรวจ มะเร็งปากมดลูก โดยการทำแป๊ปสเมียร์ผิดปกติ ทำให้ง่ายต่อการรักษามากขึ้น
สตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วทุกช่วงอายุ หรือที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แต่มี อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจภายในหา มะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจ แป็ปสเมียร์ ปีละ 1 ครั้ง อย่างสม่ำเสมอ ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านนะค่ะ การตรวจภายในไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือมีความเจ็บปวดใด ๆ เลย สตรีควรพิทักษ์สิทธิในร่างกายเราและป้องกันการเกิดโรคซึ่งสามารถจะป้องกันด้วยตัวเราเอง
การเตรียมตัวในการตรวจภายใน โดยควรจะตรวจทันทีที่นึกได้ว่าปีนี้ยังไม่ได้ตรวจ
- ไม่ควรจะเป็นวันที่มีประจำเดือน และควรตรวจหลังประจำเดือนหมดไปแล้ว 2 สัปดาห์
- งดเพศสัมพันธ์และงดการสวนล้างช่องคลอดในวันก่อนตรวจ 1 วัน
การป้องกัน มะเร็งปากมดลูก นอกจากการตรวจหา มะเร็งปากมดลูก แล้ว เรายังสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก ได้ด้วยการ ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์โดยการ
- งดสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะสืบพันธุ์
- ทำจิตใจให้เบิกบาน แจ่มใส
- ไม่สำส่อน หรือมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่สาม และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์
ตอน 4 การรักษาโรค มะเร็งปากมดลูก
เซลล์บุผิวของปากมดลูกที่ผิดปกติแต่ยังไม่ถึงกับเป็นเซลล์มะเร็ง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเซลล์เหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งภายหลัง เราเรียกว่า precancerous บางครั้งแพทย์อาจจะใช้คำ squamous intraepithelial lesion [SIL] ซึ่งพบได้ 2 แบบ
- Low-grade SIL หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเริ่มแรกของ รูปร่าง ขนาด และจำนวน บางครั้งอาจหายไปเองแต่ก็มีจำนวนหนึ่งเปลี่ยนไปเป็น High-grade SIL บางครั้งเรียก mild dysplasia
- High-grade SIL หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุมดลูกที่เปลี่ยนไปจากเดิมชัดเจน ถ้าเซลล์อยู่เฉพาะปาดมดลูกเรียก moderate or severe dysplasia
การรักษา precancerous
การรักษาขึ้นกับปัจจัยหลายประการได้แก่ ลักษณะ precancerous ว่าเป็น low หรือ high-SIL ผู้ป่วยมีบุตรพอหรือยัง สุขภาพผู้ป่วย ความต้องการของผู้ป่วยและแพทย์ โดยทั่วไป low-grade-SIL ไม่จำเป็นต้องรักษาโดยเฉพาะรายที่ได้รับการตัดชิ้นเนื้อจนหมด ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจประจำปี ถ้าจำเป็นต้องรับการรักษาแพทย์อาจเลือกวิธีรักษาได้หลายวิธี คือ การใช้ความเย็น (cryosurgery) ใช้ไฟจี้ (cauterization) หรือใช้เลเซอร์ (laser)
การรักษามะเร็งปากมดลูก
หลังจากทราบว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว แพทย์จะตรวจว่ามีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นหรือยัง โดยแพทย์จะตรวจด้วย
1. การเจาะเลือด ตรวจเลือดทั่วไป การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดลือด (CBC : Complete Blood Count) เพื่อดูว่าซีดหรือไม่ เกร็ดเลือดปกติหรือไม่ ตรวจการทำงานของไต (BUN, creatinin) เนื่องจากเซลล์มะเร็งปากมดลูก อาจลุกลามไปยังทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดอาการไดตวาย ตรวจค่าการทำงานของตับ (Liver function test, LFT)
2. แพทย์ทำการตรวจทางเดินปัสสาวะ cystoscopy และตรวจสำไส้ใหญ่ (proctosigmoidoscopy) โดยใช้อุปกรณ์กล้องส่องเข้าไปตรวจ
แพทย์จะตรวจลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งแบเรียม (barium enema) เข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ว่ามีการแพร่ของเซลล์มะเร็งหรือไม่?
3. แพทย์จะฉีดสีเพื่อตรวจไต (intravenous pyelogram, IVP) เพื่อตรวจว่า มะเร็งปากมดลูกกระจายไปที่ไตหรือไม่?
4. ตรวจด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography) / ซีทีสแกน (CT-scan) / MRI / ล่าสุดและทันสมัย คือตรวจด้วย PET/CT Scan เป็นการตรวจดูความผิดปกติของเซลล์ระดับเมตาบอลิสม ตลอดจนเป็นเครื่องมือที่สามารถตรวจหามะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และมีความแม่นยำสูง
ก่อนรับการรักษาโรค ผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจและดูแลร่างกายตนเอง
-มะเร็งที่เป็นอยู่นี้ อยู่ในระยะไหน แพร่กระจายไปยังอวัยวะใดบ้าง?
-วิธีการรักษาที่ดีที่สุด แพทย์เลือกวิธีไหน เพราะเหตุใดจึงเลือกวิธีนี้?
-โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการรักษามีมากน้อยเพียงใด และมีปัจจัยใดบ้าง?
-มีผลข้างเคียงระหว่างการรักษา และคุณภาพชีวิตอย่างไรหลังจากรับการรักษาไปแล้ว?
-เวลาในการรักษา ยาวนานเท่าใด?
-มีความใช้จ่ายในการรักษาประมาณเท่าใด?
-ถ้าไม่รักษาจะเป็นเช่นใด?
-ต้องมาทำการตรวจ และติดตามอาการโรค นานแค่ไหน?
วิธีการรักษามะเร็งปากมดลูก
1. การผ่าตัด ถ้ามะเร็งเป็นอยู่เฉพาะจุดที่มีพื้นที่จำกัด แพทย์จะตัดแค่บริเวณปากมดลูกและบริเวณใกล้เคียงออก แต่ถ้าโรคมะเร็ง มีการลุกลามไปมาก อาจจะตัดมดลูก ท่อรังไข่ รังไข่ รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกไปด้วย
2. การฉายรังสีรักษา ทำได้ 2 วิธี คือ
2.1 โดยการฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี ที่โรงพยาบาล ติดต่อกัน ประมาณ 5 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 5-6สัปดาห์ เพื่อเป็นการฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีการฉายรังสีแบบ 3 มิติ ซึ่งมีความปลอดภัยสูงมาก และไม่ค่อยสูงผลต่ออวัยวะข้างเคียง เหมือนการฉายรังสีด้วยเครื่องมือแบบเก่า..
2.2 โดย การฝังแร่กัมมันตรังสี (brachytherapy) เป็นประเภทหนึ่งของรังสีรักษา (radiotherapy) ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยการใส่ต้นกำเนิดของรังสีภายในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็ง ทำให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด และลดความเสียหายของเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบๆ ก้อนมะเร็งได้ โดยมีทั้งแบบฝังแร่แบบชั่วคราว และแบบถาวร ขึ้นอยู่กับระยะของ โรคมะเร็ง
(ซึ่งทั้งสองแบบ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านทันที หรือพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลาสั้นๆ
3. การใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะทำลายเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย ทั้งที่ก้อนมะเร็ง และที่กำลังกระจายหรือแบ่งเซลล์ในอวัยวะอื่น ซึ่งจะมีผลข้างเคียง คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เบื่ออาหาร เลือดจาง เกร็ดเลือดต่ำ เหนื่อยง่าย ติดเชื้อแทรกซ้อนง่าย ยาเคมีบำบัดมีการพัฒนาสูตรใหม่ออกมาเป็นประจำ ซึ่งเหมาะสมกับเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์ ฉะนั้นควรปรึกษาแพทยือย่างถี่ถ้วน
4. การสร้างเสริม ภูมิคุ้มกัน ผลข้างเคียงน้อย ในบางรายอาจมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มีไข้ต่ำ ท้องร่วงเล็กน้อย เวียนหัวเล็กน้อย เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพบอาการ หรือจะเป็นเพียงช่วงแรก ระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น
หวังว่า ข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยทุกท่านในการป้องกัน และดูแลสุขภาพ ให้แข็งแรง และหายขาดจากโรคมะเร็งปากมดลูก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีดั่งเดิม
|
|
|